วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปรัชญาของการศึกษาปฐมวัย

วันนี้มีปรัชญาการศึกษาปฐมวัยมาฝากท่านผู้อ่านที่สนใจด้านการรักเด็กค่ะ ผู้เขียนได้เจอเนื้อหานี้ ก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ทางการศึกษาปฐมวัยบ้างล่ะ จึงได้ขอยืมเนื้อหาบางตอนมา ยังไงลองอ่านกันดูน่ะค่ะ

ในอดีตความหมายของคำว่า เด็ก มีแตกต่างกันไปมากมายหลายความหมาย ทั้งนี้โดยขึ้นอยู่กับสังคมในยุคสมัยนั้นๆ อาทิ ในสมัยโบราณเด็กจะถูกมองหรือพิจารณาว่าเป็นผู้ใหญ่เมื่ออายุ 7 ขวบ การศึกษาของชาวกรีกและโรมันสมัยก่อนจะมุ่งจัดการศึกษาสำหรับเด็กชายที่มาจากครอบครัวร่ำรวย สำหรับเด็กหญิงหรือเด็กมาจากครอบครัวยากจนจะถูกฝึกให้ทำงานบ้าน การศึกษาจะเริ่มต้นเมื่อเด็กอายุราว 6-7 ขวบ ถึงแม้ว่านักปราชญ์ในสมัยนั้น เช่น อริสโตเติล และพลาโตจะได้กล่าวถึงความจำเป็นของการจัดการศึกษาให้แก่เด็กก่อนหน้านั้นก็ตาม

แนวคิดของนักปรัชญาในแต่ละยุคสมัยที่มีผู้กล่าวถึงและเป็นที่ยอมรับ รวมตลอดถึงมีการนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดการศึกษาปฐมวัยในปัจจุบันมีหลายแนวคิด แต่จะขอเสนอแนวคิดที่สำคัญดังนี้

1. จอห์น อมอส คอมิวนิอุส (John Amos Comenius) มีชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1592 ถึง 1670 คอมมิวนิอุสเป็นนักการศึกษาชาวเชโกสโลวะเกีย เป็นผู้เขียนหนังสือภาพ (picture books) สำหรับเด็กเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่า “Orbis Pictus” ซึ่งมีความหมายว่า โลกของรูปภาพ หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือสำหรับครูในการฝึกประสาทสัมผัสและการศึกษาธรรมชาติ คอมมิวนิอุสมีความเชื่อว่า การศุกษาควรเป็นไปตามลำดับขั้นของธรรมชาติ ครูจำเป็นต้องสังเกตลำดับขั้นตอนตามธรรมชาติดังกล่าวและจัดการเรียนรู้สำหรับเด็ก แนวคิดของคอมมิวนิอุสสะท้อนให้เห็นในลำดับขั้นพัฒนาการของเปียเจท์และมอนเตสเซอรี่ หรือในปัจจุบันที่เราอ้างถึงในเรื่องของความพร้อมทางการเรียน (school readiness)

นอกจากนั้นคอมมิวนิอุสยังมุ่งเน้ความคิดรวบยอดพื้นฐานที่เราพูดถึงเสมอ ๆ ในปัจจุบัน คือ การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ (learning by doing) คอมมิวนิอุสพยายามส่งเสริมพ่อแม่ ผู้ปกครองเปิดโอกาสให้เด็กเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการปฏิรูปสังคมที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนยากจนเช่นเดียวกับคนร่ำรวย กล่าวโดยสรุป คอมมิวนิอุสได้มีบทบาทที่สำคัญมากทางการศึกษา 3 ประการ คือ เป็นผู้เขียนหนังสือที่มีรูปภาพประกอบเป็นคนแรก จัดการศึกษาโดยมุ่งเน้นที่ประสาทสัมผัส (education with the senses) และเป็นผู้ที่ริเริ่มการปฏิรูปทางสังคมด้านการศึกษา

2. จอห์น ล็อค (John Lock) มีชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1632 ถึง 1741 จอห์น ล็อค ถือเป็นผู้ก่อตั้งปรัชญาการศึกษาสมัยใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากทฤษฎีทางการศึกษาของเขามีรากฐานอยู่บนวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาจิตใจ และการเรียนรู้ ล็อค มีความเชื่อว่า เด็กเปรียบเสมือนกับผ้าขาวสะอาด (clean slate) เด็กจะเติบโตเป็นบุคคลเช่นใดนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้รับจากพ่อแม่ สังคม การศึกษา และโลกรอบตัว จอห์น ล็อคเป็นนักการศึกษาชาวยุโรปในยุคแรกที่กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก

ล็อคเชื่อว่า จุดมุ่งหมายของการศึกษาคือการพยายามทำให้มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผล กล่าวโดยสรุป บทบาทที่สำคัญของจอห์น ล็อคด้านการศึกษาคือ การจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก การอธิบายเหตุผลแก่เด็กในการเรยนรู้ และบทบาทของสิ่งแวดล้อมต่อการพัฒนาเด็ก

3. ฌอง ฌาค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) มีชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1712 ถึง 1778 รุสโซเกิดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส รุสโซมีความเชื่อว่า เด็กเกิดมาพร้อมกับแนวโน้มที่จะเป็นคนดี เด็กเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับสิ่งแวดล้อม เด็กควรเติบโตไปตามธรรมชาติ แต่สังคมเป็นผู้ทำลายเด็ก รุสโซมีชื่อเสียงมาจากงานเขียนที่ชื่อว่า เอมิล (Emile) ซึ่งกล่าวถึงวิธีการเลี้ยงดูเด็กแบบธรรมชาติ รุสโซเสนอแนะว่า การศึกษาควรสะท้อนความดีงามตามธรรมชาติของเด็ก และบรรยากาศการเรียนการสอนควรยืดหยุ่นได้โดยคำนึงถึงความต้องการ และความสนใจของเด็กเป็นหลัก นอกจากนั้น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนเด็กเล็กควรเป็นรูปธรรม

ถึงแม้ว่างานของรุสโซโดยส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่การปฏิรู)ความคิดทางสังคมด้านการศึกษา แต่งานของรุสโซก็มีอิทธิพลอย่างสูงต่อโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย โดยเฉพาะในส่วนที่มีความเกี่ยวพันกับลำดับขั้นพัฒนาการ และลำดับขั้นการเรียนรู้ รวมตลอดถึงการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับสิ่งแวดล้อม

แนวคิดของรุสโซมีอิทธิพลต่อนักการศึกษาในยุคต่อมา เช่น เปสตาลอสซี่ ฟรอเบล และมอสเตสเซอรี่ กล่าวโดยสรุป แนวคิดของรุสโซที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาปฐมวัยในยุคปัจจุบัน ได้แก่ การส่งเสริมให้เด็กเล่นเสรี (free play) ซึ่งมาจากแนวความคิดของรุสโซที่ว่า เด็กโดยธรรมชาติแล้วเป็นคนดี และมีความสามารถที่จะเลือกสิ่งที่ตนต้องการที่จะเรียนรู้การจัดสิ่งแวดล้อมที่มุ่งให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนและส่งเสริมให้ผู้เรียนควบคุมตนเอง รวมตลอดถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนควรเป็นรูปธรรม

4. โจฮันน์ ไฮน์ริค เปสตาลอซซี่ (Johann Heinrich Pestalozzi) มีชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1746 ถึง 1827 เปสตาลอซซี่เป็นนักการศึกษาชาวอิตาเลี่ยน-สวิส ซึ่งทฤษฎีทางการศึกษาที่คิดนั้นได้กลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัย เปสตาลอซซี่ได้รับอิทธิพลด้านความคิดจากรุสโซ เปสตาลอซซี่เชื่อว่า การศึกษาธรรมชาติถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอน เปสตาลอซซี่มุ่งเน้นความคิดของการจัดหลักสูตรแบบบูรณาการ (integrated curriculum) ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม เปสตาลอซซี่กล่าวว่าการจัดการศึกษาให้แก่เด็กควรรวมถึงการพัฒนาร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ มีแนวคิดจากรุสโซตรงที่มุ่งเน้นการสอนเด็กเป็นกลุ่มมากกว่าการสอนเด็กเป็นรายบุคคล

นอกจากนั้น เปสตาลอซซี่ยังเป็นต้นความคิดในเรื่องการเตรียมความพร้อม และเห็นว่าเด็กไม่ควรถูกบังคับให้เรียนรู้ด้วยการท่องจำ แต่ต้องให้เวลาและประสบการณ์แก่เด็กในการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตนเอง เปสตาลอสซี่ได้เขียนหนังสือหลายเล่มเพื่อเน้นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ และลูก เช่น เกอร์ทรูดสอนลูกอย่างไร (How Gertrude Teaches Her Children) และ หนังสือสำหรับแม่ (Books for Mothers) และได้ออกแบบหลักสูตรชื่อ ปาปา (Papa) สำหรับลูกของตน ซึ่งจะให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก

5. เฟรดเดริค ฟรอเบล (Friedrich Froebel) มีชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1782 ถึง 1852 ฟรอเบลเคยศึกษากับเปสตาลอสซี่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาของการอนุบาลศึกษา ฟรอเบลเป็นบุคคลที่มีความสำคัญและมีบทบาทมากผู้หนึ่งต่อการศึกษาปฐมวัยโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดในการเรียนรู้ หลูกสูตร และการฝึกหัดครู นอกจากนั้นฟรอเบลยังเป็นบุคคลแรกที่ได้ออกแบบหลักสูตรสำหรับเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะ หลักสูตรของฟรอเบลเน้นความสำคัญของการเล่น และการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ฟรอเบลมีความเชื่อว่าเด็กเล็กๆ เกิดมาพร้อมกับความรู้และทักษะที่สะสมอยู่ภายใน หน้าที่ที่สำคัญของครู คือ การพยายามดึงความสามารถที่มีอยู่ภายในของเด็กออกมา และช่วยให้เด็กตระหนักถึงความสามารถของตนเอง

หลักสูตรอนุบาลศึกษาของฟรอเบลประกอบด้วยชุดของขวัญ (gifts) และชุดอาชีพ (occupations) ซึ่งออกแบบมาสำหรับพัฒนาการเรียนรู้โดยการสัมผัส ชุดของขวัญประกอบด้วยไหมพรม ไม้บล็อก วัสดุจากธรรมชาติ รปทรงเรขาคณิต ส่วนชดอาชีพประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ อันได้แก่ การปั้น การตัด การพับ การร้อยลูกปัด และการเย็บปัก นอกจากนั้นกิจกรรมดนตรี ศิลปะและกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น การทำสวน การดูแลสัตว์ จะถูกบรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของเด็กนอกเหนือจากการใช้ชุดของขวัญและชุดอาชีพ

แนวคิดในเรื่อง การเล่น ของเฟรเบลแตกต่างจากแนวคิดในเรื่อง การเล่น ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ฟรอเบลมองการเล่นว่าเป็นกระบวนการที่ครูเป็นผู้ชี้แนะ (teacher-directed process) เป็นการเล่นเลียนแบบธรรมชาติ และเกิดขึ้นในหน่วยการเรียนรู้ที่ครูเป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ตามฟรอเบลก็ยอมรับแนวคิดของการเล่นในรูปแบบที่เด็กเป็นผู้คิดขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถและกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก

6. จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) มีชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1859 ถึง 1952 ดิวอี้เป็นนักศึกษาชาวอเมริกันที่ต่อต้านการเรียนการสอนแบบเก่าที่เน้นการเรียนแบบท่องจำ และอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของครู จอห์น ดิวอี้ถือเป็นผู้นำของแนวคิดการศึกษาแบบก้าวหน้า (progressive education) ดิวอี้มีความเชื่อว่า เด็กเรียนรู้จากประสบการตรง การศึกษาควรมีความสัมพันธ์กับชีวิตปัจจุบันของเด็ก ดิวอี้เน้นความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังในระบอบประชาธิปไตย การสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง โดยคำนึงถึงความสนใจและความสามารถของเด็ก หลักสูตรควรมีลักษณะที่ยืดหยุ่นได้ และสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของเด็ก บทบาทของครู คือเป็นผู้จัดเตรียมประสบการณ์ สภาพแวดล้อมให้กับเด็ฏเพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ หรือมีประสบการณ์ด้วยตนเอง เด็กควรมีเสรีภาพในด้านการคิด การแสดงออก โดยครูจะเป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ส่งเสริมและวางแนวทางที่เหมาะสมแก้เด็กอย่างต่อเนื่องกันไป ดิวอี้ไม่เห็นด้วยกับบทบาทที่จะต้องให้นักเรียนเป็นฝ่ายรับ และครจะต้องเป็นผู้สอนอยู่ตลอดเวลา

7. มาเรีย มอนเตสเซอรี่ (Maria Montessori) มีชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1870 ถึง 1952 ดร.มาเรีย มอนเตสเซอรี่เป็นแพทย์หญิงคนแรกชาวอิตาเลียน ผู้คิดการสอนแบบมอนเตสเซอรี่ขึ้นครั้งแรกโดยเริ่มจากการทำงานกับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาทำให้ค้นพบว่าเด็กต้องการการกระตุ้นและการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม มอนเตสเซอรี่จึงคิดหาวิธีการที่จะช่วยเด็กให้มีพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาการสอนสำหรับเด็กปกติด้วย โดยได้เปิดรางเรียนสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนขึ้นในปีค.ศ. 1907 วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องเรียนของมอนเตสเซอรี่ เช่น โต๊ะและเก้าอี้มีขนาดเหมาะสมกับตัวเด็ก อุปกรณ์ในการเรียนรู้จะมีหลากหลาย และเป็นลำดับขั้นตอน ทั้งนี้เพราะมอนเตสเซอรี่เชื่อว่า งานใดๆ ก็ตามสามารถแบ่งเป็นลำดับขั้นย่อยๆ ได้ และโดยอาศัยกระบวนการดังกล่าว เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะกวาดพื้นและแต่งตัวได้ด้วยตนเอง หลักสูตรของมอนเตสเซอรี่จะให้ความสำคัญกับการศึกษาทางด้านสัมผัส (education of the senses) เพราะถือว่าเป็นรากฐานของพัฒนาการทางสติปัญญา นอกจากนั้น มอนเตสเซอรี่ยังให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียน


เป็นอย่างไรบ้างค่ะสำหรับปรัชญาการศึกษาปฐมวัยที่นำมาฝากกัน หวังว่าท่านผู้อ่านคงได้รับสาระประโยชน์บ้างน่ะค่ะ

ต้องขอขอบคุณเนื้อหาจาก

นภเนตร ธรรมบวร. หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาปฐมวัย



เราจะมารู้จักกับสาขาการศึกษาปฐมวัยให้มากขึ้น ข้าพเจ้าจะพาท่านผู้อ่านทั้งหลายไปดูกันค่ะว่า การศึกษาปฐมวัยนั้นเป็นอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ

การศึกษาปฐมวัย เป็นการศึกษาที่จัดให้แก่เด็กปฐมวัยนั่นคือเด็กที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบค่ะ ลักษณะของการจัดการศึกษานั้นก็จะเน้นการดูแลเด็กควบคู่ไปกับการให้การศึกษาแก่เด็กค่ะ

มิติของการศึกษาปฐมวัย
การศึกษาปฐมวัยเป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งสนองตอบความต้องการของเด็กในฐานะบุคคล สนองตอบความต้องการของสังคมในฐานะบริการชุมชน ลักษณะของการจัดการศึกษาจึงมี 2 มิติร่วมกันระหว่างการดูแล และการศึกษา ซึ่งจะแนกเป็นการให้การศึกษาแก่เด็กและการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง

มิติการดูแล
หมายถึง การให้การดูแลแก่เด็กเกี่ยวกับสุขวิทยาเด็ก โภชนาการ ความปลอดภัย สุขภาพ การพักผ่อน การนอน และการออกกำลังกายของเด็ก ซึ่งการดูแลเหล่านี้เราจะกำหนดไว้เป็นตารางกิจวัตรประจำวัน ที่บอกเวลานอน เวลาอาหารและเวลาทำกิจกรรมของเด็กซึ่งแสดงให้เห็นหน้าที่ของครูในการดูแลแก่เด็ก


มิติการศึกษา
หมายถึง การให้ความรู้และประสบการณ์แก่เด็ก เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมและเจตคติของเด็กไปสู่การเรียนรู้ในสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง จำแนกได้เป็น 2 ด้าน คือ การให้การศึกษาแก้เด็กและการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง ทั้งนี้เพราะการศึกษาที่ให้แก้เด็กปฐมวัยไม่สามารถแยกออกมาจากบ้าน เนื่องจากพัฒนาการและการสร้างเสริมเด็กเพื่อการเจริญเติบโต มีการเรียนรู้ที่ดีพัฒนาการที่สมบูรณ์นั้น ต้องสานต่อระหว่างบ้านและโรงเรียน ถ้าผู้ปกครองมีความเข้าใจเด็ก เลี้ยงดูเด็กที่ถูกต้องและเข้าใจโรงเรียน จะทำให้การจัดการศึกษาสำหรับเป็นไปยอ่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะสำหรับความเข้าใจในบางส่วนในการศึกษาปฐมวัย ความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาปฐมวัยนั้นมีมากมายข้าพเจ้าไม่สามารถนำมาให้ผู้อ่านที่สนใจรู้ได้หมด แต่เชื่อว่าอย่างน้อยๆ ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้ในบางส่วนบางด้านเกี่ยวกับการศึกษาปฐมวัยบ้าง แล้วเอาไว้โอกาสหน้าข้าพเจ้าจะได้สรรหาข้อมูลมาอีก


ต้องขอขอบคุณเนื้อหาจาก
หนังสือ รูปแบบการเรียนการสอนปฐมวัยศึกษา
ของ รศ.ดร.กุลยา ตันติผลาชีวี

วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

รักมั่นคง...ช่วยลูกพัฒนาดี



คุณทราบหรือไม่ว่าความสัมพันธ์ที่มั่นคงช่วยให้ลูกมีพัฒนาการดีได้



ความสัมพันธ์ที่มั่นคงของแม่และพ่อที่มีต่อลูกน้อย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกขวบปีแรก แต่จะทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงลูกให้มีความสัมพันธ์ที่ดีได้ ข้าพเจ้าติดใจจากการอ่านนิตยสารเล่มหนึ่งจึงนำเอามาเสนอดังต่อไปนี้ค่ะ



ขวบปีแรก...โหยหาความเชื่อใจ


ทฤษฎีพัฒนาการ (psychosocial development) ของ อิริคสันบอกว่าเด็กวัยขวบปีแรก จะเกิดความไว้ใจ เชื่อใจคน ผ่านการตอบสนองต่อความต้องการของเด็กอย่างเหมาะสมจากคนที่เลี้ยงดูเด็ก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของพัฒนาการด้านอื่นๆ ต่อไป เพราะสิ่งสำคัญในการเลี้ยงดูเด็กวัยนี้ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงดูที่มี ความเข้าใจความต้องการของเด็กและตอบสนองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยอาศัยความรักความอบอุ่นและความเข้าใจในการเลี้ยงดูค่ะ


ขวบปีแรกเป็นช่วงของการสร้างสัมพันธภาพ ถ้าเด็กได้รับการดูแลอย่างเข้าใจจากคนที่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดู เขาจะผูกพัน ไว้เนื้อเชื่อใจ ความมั่นคงทางอารมณ์ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูจึงต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานของลูกอย่างถูกต้องเหมาะสมทุกครั้ง เช่น หิวก็ให้กินนม ผ้าอ้อมเปียกก็เปลี่ยนให้ ลูกร้องก็คอยปลอบโยน เป็นต้น


ความรัก ความอบอุ่น พลังสร้างความสัมพันธ์


วิธีเลี้ยงลูกเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก ก็คือการดูแลเอาใจใส่และมอบความรัก ความอบอุ่นให้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากต่อพัฒนาการของลูก การเลี้ยงดูที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ลูกจะรับรู้ความรู้สึกเหล่านั้น ส่งผลให้จิตใจและอารมณ์ของลูกมั่นคงและรู้สึกปลอดภัย ซึ่งทำได้ดังนี้


ยิ้ม ยิ้มให้ หรือยิ้มตอบเมื่อลูกยิ้มให้ ลูกก็จะได้จดจำใบหน้าของแม่ และเกิดความผูกพันระหว่างกัน


กอดสัมผัส ภาษากายที่จะทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยว่าจะมีผู้ดูแลอยู่ข้างๆ เสมอ


สบตา เวลาที่ลูกจ้องมอง พ่อแม่ควรพูดคุยพร้อมกับสบตากับลูก เวลานี้แหละค่ะที่เด็กๆ จะได้สังเกตใบหน้า ท่าทางและอารมณ์ของพ่อแม่และถ้าได้พูดคุยและสบตากันมากขึ้นเท่าไร ความผูกพันก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย


เล่น ทั้งการเล่นจ๊ะเอ๋ ร้องเพลง หรือพูดคุยหยอกล้อกับลูก ก็ช่วยเพิ่มเติมความรัก ความอบอุ่นได้เช่นกัน



ความสัมพันธ์ไม่ดี=พัฒนาการไม่ดี


เด็กที่ถูกเลี้ยงมาด้วยการขาดความสัมพันธ์ที่ดี ขาดความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ส่งผลให้ขาดความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ เด็กจะไม่ไว้ใจใคร เพราะความต้องการพื้นฐานของพวกเขาไม่ได้ตอบสนอง เช่น เวลาหิวก็ไม่มีใครหานมมาให้ ร้องไห้ก็ไม่มีใครสนใจ เด็กจะไม่เชื่อใจใครเลย กลายเป็นเด็กที่ขาดปฏิสัมพันธ์ ส่งผลให้ขาดความกระหายที่จะเรียนรู้ พัฒนาการของเด็กก็จะช้าตามไปด้วย

เช่นเดียวกันกับเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรุนแรง หรือด้วยอารมณ์ที่เกรี้ยวกราด เด็กจะเสียพลังงานไปกับการคอยระวังภัยอยู่ตลอดเวลาว่าจะเจ็บตัวหรือไม่ ทำให้เด็กมีความเครียด ส่งผลให้สารคอร์ติซอลที่มีอยู่ในร่างกายหลั่ง พลังงานและความสนใจที่เด็กจะใช้ในการเรียนรู้ก็หมดลง


ดังนั้น การเลี้ยงดูลูกน้อย จึงต้องใช้ความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องทุกช่วงวัย เพราะวงจรแห่งการเจริญเติบโตของเด็กเชื่อมโยงกัน พ่อแม่จึงควรจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับลูกไปพร้อมๆ กับทำความเข้าใจพัฒนาการของลูกด้วยค่ะ


อย่าลืมว่าความรัก ความอบอุ่น การเอาใจใส่ เป็นเครื่องมือในการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่กับลูกน้อย เพื่อเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในอนาคตต่อไปค่ะ



ขอขอบคุณเนื้อหาจาก


นิตยสารรักลูก ฉบับ เมษายน 2553


การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยไทยตามแนวคิดไฮสโคป





การเรียนรู้ระดับปฐมวัย ถือเป็นการเรียนรู้เบื้องต้นที่สำคัญสำหรับเด็กมากที่เขาจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากได้รับการเอาใจใส่ดูแล และรูปแบบการเรียนที่ดีที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็ก ข้าพเจ้าได้เห็นบทความนี้จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาต่อไป จึงขออนุญาตเอามาโพสต์อีกคงไม่ว่ากัน

ความเป็นมา
ดร.เดวิด ไวคาร์ท (Dr.David Weikart) ประธานมูลนิธิวิจัยการศึกษาไฮสโคป (High/Scope Educational Research Foundation) เป็นผู้ริเริ่มและร่วมกับคณะนักวิชาการและนักวิจัย อาทิ แมรี่ โฮแมน (Mary Hohmann) และ ดร.แลรี่ ชไวฮาร์ต (Dr.Larry Schweinhart) พัฒนาขึ้นจากโครงการเพอรี่ พรี สคูล (Perry Preschool Project) ตั้งแต่พ.ศ.2505 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ Head Start เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้มีการศึกษาที่เหมาะสม และประสบความสําเร็จในชีวิต

มูลนิธิวิจัยการศึกษาไฮสโคปได้ศึกษาเปรียบเทียบเด็ก 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มที่ได้รับการสอนจากครูโดยตรง (Direct Instruction) กลุ่มเนอร์สเซอรี่แบบดั้งเดิม (Traditional Nursery) และกลุ่มที่ได้รับประสบการณ์โปรแกรมไฮสโคป จากการศึกษาติดตามเด็กเหล่านี้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอายุ 29 ปี พบว่ากลุ่มที่เรียนด้วยโปรแกรมไฮสโคปมีปัญหาพฤติกรรมทางสังคม-อารมณ์ เช่น การถูกจับข้อหาลักขโมย ทำร้ายผู้อื่น บกพร่องทางอารมณ์ และล้มเหลวในชีวิตน้อยกว่าอีก 2 กลุ่ม ดังนั้น โปรแกรมนี้จึงพิสูจน์ได้ว่าช่วยป้องกันอาชญากรรรม เพิ่มพูนความสำเร็จทางการศึกษาและผลผลิตตลอดชีวิต (Weikart and others, 1978 และSchweinhart, 1988 และ 1997)

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ได้พัฒนาระบบการฝึกอบรมบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ เรียนรู้ได้ง่าย เผยแพร่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ครูจำนวนมากกว่า 33,000 คน ได้รับการฝึกอบรมในเรื่องไฮสโคป และจากการสำรวจสมาชิกมากกว่า 200,000 คน ของสมาคมการศึกษาปฐมวัยแห่งชาติ (NAEYC) พบว่า ร้อยละ 28 ของสมาชิกได้รับการฝึกอบรมในเรื่องไฮสโคป และร้อยละ 44 ใช้โปรแกรมไฮสโคปในบางบริบทด้วย (Schweinhart, 1997)

ทฤษฎีที่มีอิทธิพลในระยะเริ่มต้น การพัฒนาโปรแกรมไฮสโคปใช้ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (Cognitive Theory) ของเปียเจต์ (Piaget) เป็นพื้นฐานโดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ของผู้เรียนซึ่งเน้นการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ (Active Learning) ระยะต่อมามีการผสมผสานทฤษฎีและแนวคิดอื่นๆ เช่น ทฤษฎีของอีริกสัน (Erikson) ในเรื่องการให้โอกาสเด็กเป็นผู้ริเริ่มการเล่นหรือกิจกรรมต่างๆอย่างอิสระและทฤษฎีของไวก๊อตสกี้ (Vygotsky) ในเรื่อง ปฏิสัมพันธ์และการใช้ภาษา เป็นต้น

หลักการโปรแกรมไฮสโคปเน้นการเรียนรู้แบบลงมือกระทำผ่านมุมเล่นที่หลากหลาย ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กและการแก้ปัญหาอย่างกระตือรือร้น

การเรียนรู้แบบลงมือกระทำ (Active Learning)หลักการที่สําคัญของไฮสโคปในระดับปฐมวัย คือ การเรียนรู้แบบลงมือกระทํา ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสําคัญในการพัฒนาเด็ก การเรียนรู้แบบลงมือกระทําจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโปรแกรมที่พัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการ การเรียนรู้แบบลงมือกระทํา หมายถึง การเรียนรู้ซึ่งเด็กได้จัดกระทํากับวัตถุ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล ความคิดและเหตุการณ์ จนกระทั่งสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Hohmann and Weikart,1995) ทั้งนี้ องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบลงมือกระทํา ได้แก่

1. การเลือกและตัดสินใจ เด็กจะเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมจากความสนใจและความตั้งใจของตนเอง เด็กเป็นผู้เลือกวัสดุอุปกรณ์และตัดสินใจว่าจะใช้วัสดุอุปกรณ์นั้นอย่างไร การที่เด็กมีโอกาสเลือกและตัดสินใจทําให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่าได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้ใหญ่ ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการเลือกและการตัดสินใจต้องจัดให้เด็กมีอิสระที่จะเลือกได้ตลอดทั้งวันขณะที่ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันไม่ใช่เฉพาะในช่วงเวลาเล่นเสรีเท่านั้น

2. สื่อ ในห้องเรียนที่เด็กเรียนรู้แบบลงมือกระทำจะมีเครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย เพียงพอ และเหมาะสมกับระดับอายุของเด็ก เด็กต้องมีโอกาสและมีเวลาเพียงพอที่จะเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างอิสระ เมื่อเด็กใช้เครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เด็กจะมีโอกาสเชื่อมโยงการกระทำต่าง ๆ การเรียนรู้ในเรื่องของความสัมพันธ์ และมีโอกาสในการแก้ปัญหามากขึ้นด้วย

3. การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 การเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 การให้เด็กได้สำรวจและจัดกระทำกับวัตถุโดยตรงทำให้เด็กรู้จักวัตถุ หลังจากที่เด็กคุ้นเคยกับวัตถุ แล้วเด็กจะนำวัตถุต่าง ๆ มาเกี่ยวข้องกันและเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ ผู้ใหญ่มีหน้าที่จัดให้เด็กค้นพบความสัมพันธ์เหล่านี้ด้วยตนเอง

4. ภาษาจากเด็ก สิ่งที่เด็กพูดจะสะท้อนประสบการณ์และความเข้าใจของเด็ก ในห้องเรียนที่เด็กเรียนรู้แบบลงมือกระทําเด็กมักจะเล่าว่าตนกําลังทําอะไร หรือทําอะไรไปแล้วในแต่ละวัน เมื่อเด็กมีอิสระในการใช้ภาษาเพื่อสื่อความคิดและรู้จักฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เด็กจะเรียนรู้วิธีการพูดที่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ได้พัฒนาการคิดควบคู่ไปกับการพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองด้วย

5. การสนับสนุนจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ในห้องเรียนการเรียนรู้แบบลงมือกระทําต้องสร้างความสัมพันธ์กับเด็ก สังเกตและค้นหาความตั้งใจ ความสนใจของเด็ก ผู้ใหญ่ควรรับฟังเด็ก ส่งเสริมให้เด็กคิดและ ทําสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
ในห้องเรียนที่เด็กเรียนรู้แบบลงมือกระทํา เด็กจะเผชิญกับประสบการณ์สําคัญซํ้าแล้วซํ้าอีกในชีวิตประจําวันอย่างเป็นธรรมชาติ ประสบการณ์สําคัญเป็นกุญแจที่จําเป็นในการสร้างองค์ความรู้ของเด็กเป็นเสมือนกรอบความคิดที่จะทําความเข้าใจการเรียนรู้แบบลงมือกระทําเราสามารถให้คําจํากัดความได้ว่า ประสบการณ์สําคัญเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ที่เด็กจะต้องหามาให้ได้โดยการปฏิสัมพันธ์กับวัตถุ คน แนวคิดและเหตุการณ์ สำคัญต่างๆ อย่างหลากหลาย ประสบการณ์สำคัญเป็นกรอบความคิดให้กับผู้ใหญ่ในการเข้าใจการเรียนรู้ของเด็ก สามารถวางแผนการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมและประเมินพัฒนาการของเด็กอย่างเหมาะสม

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก (Adult-Child Interaction)
การเรียนรู้แบบลงมือกระทํานั้นจะประสบความสําเร็จได้ เมื่อผู้ใหญ่และเด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไฮสโคปจึงเน้นให้ผู้ใหญ่สร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัยให้แก่เด็ก การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเด็กนั้นเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก เด็กจะกล้าพูด กล้าแสดงออก และกล้าปรึกษาปัญหา ผู้ใหญ่จะต้องใส่ใจแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่เบื่อหน่ายที่จะตอบคําถามของเด็ก หรือป้อนคําถามให้เด็กเกิดความคิด จินตนาการ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเด็กนั้นนับได้ว่ามีคุณค่ามากกว่าการยกย่อง ชมเชย การให้รางวัล

ปัจจัยสําคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์

1. ความไว้วางใจ (Trust) ความไว้วางใจทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ประสบการณ์ในช่วงนี้เป้นพื้นฐานสําคัญในการพัฒนา "ความไว้วางใจ" ในวัยต่อมา โดยเริ่มจากบุคคลในครอบครัวและขยายต่อไปยังโรงเรียนและวงสังคมที่กว้างขึ้น สิ่งนี้จะเป็นการสร้างสัมพันธภาพบนพื้นฐานแห่งความไว้วางใจซึ่งกันและกันต่อไป

2. การเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy) การเป็นตัวของตัวเองเป็นความสามารถในการพึ่งพาตนเอง การทดลองทําสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองซึ่งจะทําให้เกิดความภาคภูมิใจเมื่อทําสําเร็จ ดังนั้น ถ้าผู้ใหญ่ให้กำลังใจในสิ่งที่เด็กทําได้ตามความสามารถและวิธีการของเด็กแต่ละคน เด็กจะพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้มีความสามารถพึ่งตนเองและนําตนเองได้

3. ความคิดริเริ่ม (Initiative) เด็กสามารถมีส่วนร่วมในการทํากิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะไปสนับสนุนขั้นความเป็นตัวของตัวเอง ถ้าเด็กได้รับอิสระในการคิด วางแผน และริเริ่มทํากิจกรรมต่างๆ ผู้ใหญ่มีเวลาให้กับเด็กในการตอบคําถามก็จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กมี แนวโน้มที่จะค้นคว้าศึกษา และสํารวจ เด็กจะรู้สึกมั่นใจว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการเลือก ตัดสินใจ และกระทําสิ่งต่าง ๆ ได้

4. การร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) การร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นเป็นความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้จักสร้างมิตรภาพและความรู้สึกของการมีส่วนร่วม ในช่วงปฐมวัยเด็กมีความสามารถในการใช้ภาษาดีขึ้น เด็กจะแสดงความรู้สึกของตนเองที่สามารถรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นได้มากขึ้น

5. เชื่อมั่นในตนเอง (Self-confidence) ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นสิ่งที่แสดงว่าตนเองสามารถประสบความสําเร็จ และสามารถช่วยเหลือสังคมได้ ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นสิ่งสําคัญที่จะกระตุ้นให้ต่อสู้กับอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ผู้ใหญ่สามารถพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กได้โดยการสนับสนุนให้เด็กมีโอกาสประสบความสําเร็จจากการใช้ความสามารถของตนเองอย่างเหมาะสม เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

กลยุทธ์ในการสร้างบรรยากาศที่สนับสนุนการเรียนรู้
1.
ผู้ใหญ่ให้โอกาสเด็กแสดงความคิดเห็นและลงมือปฏิบัติ มีส่วนร่วมกับเด็ก เปิดใจรับฟังความคิดเห็น รับรู้ความรู้สึก และความต้องการของเด็ก และเรียนรู้จากเด็ก
2.
สนใจในความสามารถของเด็ก ค้นหาความสนใจของเด็ก มองสถานการณ์ในมุมมองของเด็ก ให้พ่อแม่และผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมในสิ่งที่เด็กสนใจ วางแผนการเรียนการสอนโดยคํานึงถึงความสามารถและความสนใจของเด็ก
3.
สร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กอย่างแท้จริง แบ่งปันสิ่งที่ตนเองมีกับเด็ก เช่น ตอบสนองความสนใจของเด็กด้วยความเอาใจใส่ ให้ข้อมูลสะท้อนกลับแก่เด็กอย่างถูกต้องและเหมาะสม ถามและตอบอย่างตรงไปตรงมา
4.
ส่งเสริมการเล่นของเด็ก สังเกตและสนใจกับกิจกรรมการเล่นของเด็ก มีส่วนร่วมในการเล่นกับเด็กด้วยบรรยากาศที่สนับสนุน
5.
ใช้วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งขณะอยู่ร่วมกัน การแก้ปัญหาความขัดแย้งของเด็กๆ โดยคํานึงถึงความจริง ความมั่นคง และความอดทน จะช่วยให้เด็กรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลที่ตามมา ปลูกฝังให้เด็กมีความรับผิดชอบ การทํางานร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่และเด็กเพื่อช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยดําเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ เพื่อเป็นการประนีประนอมข้อขัดแย้งและปัญหาที่เกิดขึ้น
1)
ให้เด็กสงบอารมณ์ก่อน
2)
ยอมรับความรู้สึกของเด็ก
3)
รวบรวมข้อมูลจากเด็ก เช่น เกิดอะไรขึ้น อะไรคือสาเหตุให้เด็กอารมณ์เสีย
4)
ย้อนกลับมาถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
5)
ให้เด็กช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหา
6)
คอย และสนับสนุนการตัดสินใจของเด็ก

การจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ (Learning Environment)
การจัดสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยมีความสําคัญต่อการพัฒนาและการเรียนรู้ของเด็ก ตามหลักการของไฮสโคปถือว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเสมือนครูคนที่ 3 และเป็นส่วนหนึ่งของวงล้อการเรียนรู้ ซึ่งมีสาระครอบคลุม 3 เรื่อง ได้แก่ พื้นที่ สื่อ และการจัดเก็บ โดยแต่ละเรื่องมีรายละเอียด ดังนี้

พื้นที่ (Space)
เด็กปฐมวัยเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทํา เด็กจึงต้องการพื้นที่ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ พื้นที่ในการใช้สื่อต่างๆ สํารวจ เล่นก่อสร้าง และแก้ปัญหา พื้นที่ในการเคลื่อนไหว พื้นที่ส่วนตัว พื้นที่สําหรับเล่นคนเดียวและเล่นกับผู้อื่น พื้นที่เก็บของใช้ส่วนตัว และจัดแสดงผลงาน พื้นที่สําหรับผู้ใหญ่ที่จะร่วมเล่นและสนับสนุนความสนใจของเด็ก การจัดแบ่งพื้นที่ภายในห้องเรียนจะประกอบด้วย 5 ส่วน ดังนี้

1. พื้นที่เก็บของใช้ส่วนตัวของเด็ก เช่น ผ้ากันเปื่อน แปรงสีฟันแก้วนํ้า ฯลฯ อาจจะเป็นตู้ยาวแยกเป็นช่องรายบุคคล หรือชั้นวางของเป็นช่องๆ โดยมีชื่อเด็กติดแสดงความเป็นเจ้าของ
2.
พื้นที่กิจกรรมกลุ่มใหญ่ เช่น กิจกรรมฟังนิทาน ร้องเพลงเคลื่อนไหว ฯลฯ ที่ทําร่วมกันทั้งชั้นเรียน
3.
พื้นที่กิจกรรมกลุ่มย่อย เช่น กิจกรรมศิลปะร่วมมือ กิจกรรมทําหนังสือนิทานร่วมกันเป็นกลุ่มย่อย กิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ฯลฯ โดยสมาชิกกลุ่มที่เหมาะสม คือ 4-6 คน ทั้งนี้เพื่อครูจะได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์ได้ใกล้ชิดและทั่วถึงมากขึ้น
4.
พื้นที่สําหรับมุมเล่น ไฮสโคปได้กําหนดให้มีมุมพื้นฐาน 5 มุม ประกอบด้วย มุมหนังสือ มุมบล็อก มุมบ้าน มุมศิลปะ และมุมของเล่นซึ่งหมายถึงเครื่องเล่นสัมผัส เกมและของเล่นบนโต๊ะ ทั้งนี้ ไฮสโคปมีหลักการเรียกชื่อมุมต่างๆ ด้วยภาษาที่เด็กเข้าใจ จะไม่ใช้ภาษาซึ่งเป็นนามธรรมมากๆ เช่น มุมบทบาทสมมติ มุมเครื่องเล่นสัมผัส นอกจากนี้ ไฮสโคปเชื่อว่ามุมเล่นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความสนใจของเด็ก เช่น เมื่อเด็กเกิดความสนใจหลากหลายมุมบ้านก็อาจปรับเปลี่ยนเป็นมุมร้านเสริมสวยมุมหมอ หรือมุมร้านค้าได้ตามบริบทของสิ่งที่เด็กสนใจในขณะนั้น
5.
พื้นที่เก็บของใช้ครู เช่น หนังสือ คู่มือครู เอกสารโปรแกรมสื่อการสอนส่วนรวมของชั้นเรียน เช่น วัสดุศิลปะต่าง ๆ เป็นต้น

สื่อ ( Materials)
สื่อ หมายถึง วัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย ทั้งประเภท 2 มิติ 3 มิติ สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น สื่อที่เอื้อให้เด็กเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยมีการจัดการใช้สื่อที่เริ่มต้นจากสื่อที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรม กล่าวคือ เริ่มต้นจากสื่อของจริง ของจําลอง ภาพถ่าย ภาพโครงร่าง และสัญลักษณ์ ตัวอย่างเช่นเรื่องกล้วย ให้เรียงลําดับสื่อจากกล้วยจริง กล้วยจําลอง ภาพถ่ายกล้วย ภาพวาด หรือภาพโครงร่าง และคําว่า "กล้วย" อยู่ท้ายสุด ทั้งนี้เพราะการใช้สื่อต้องเหมาะสมกับวัย วุฒิภาวะ ความแตกต่างระหว่างบุคคล ความสนใจและความต้องการของเด็กที่หลากหลาย ตลอดจนสื่อที่สะท้อนชีวิตครอบครัวของเด็ก ไฮสโคปเน้นหลักการข้อนี้มาก ดังนั้น หนังสือนิทาน นิตยสาร ภาพถ่าย ตุ๊กตา เสื้อผ้า มุมบ้าน มุมดนตรี หรือของเล่น เช่น ภาพตัดต่อ ควรสะท้อนภาษา บรรยากาศ อาชีพ และสิ่งก่อสร้างหรือสถาปัตยกรรมในชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ด้วย

การจัดเก็บ (Storage)
ไฮสโคปให้ความสำคัญกับระบบจัดเก็บสื่อด้วยวงจร "ค้นหา-ใช้-เก็บคืน" (Find-Use-Return Cycle) ตามกรอบแนวคิด ดังนี้
1.
สื่อที่เหมือนกันจัดเก็บหรือจัดวางไว้ด้วยกัน
2.
ภาชนะบรรจุสื่อควรโปร่งใสเพื่อให้เด็กมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายในได้ง่าย และควรมีมือจับเพื่อให้สะดวกในการขนย้าย
3.
การใช้สัญลักษณ์ (Labels) ควรมีความหมายต่อการเรียนรู้ของเด็ก สัญลักษณ์ทํามาจากสื่ออุปกรณ์ของจริง ภาพถ่ายหรือภาพสําเนาภาพวาด ภาพโครงร่างหรือภาพประจุด หรือบัตรคําติดคู่กับสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ไฮสโคปเชื่อว่าวงจร "ค้นหา-ใช้-เก็บคืน" ส่งเสริมการเรียนรู้ เพราะเด็กๆ ได้ฝึกการสังเกต เปรียบเทียบ จัดกลุ่ม เด็กได้สั่งสมประสบการณ์ส่งเสริมความรับผิดชอบ รู้จักมีนํ้าใจช่วยเหลือ เป็นการเรียนรู้ทางสังคม ดังนั้น ครูจึงควรจัดเวลา "เก็บของเล่น" ทุกวันอย่างเพียงพอ มีสัญญาณเตือนก?อนเวลาจะสิ้นสุด ครูควรช่วยเด็กเก็บของเล่นเพื่อเป็นแบบอย่างและทําให้เด็กสนุกสนาน ครูต้องไม่ใช้การเก็บของเล่นเข้าที่เป็นการลงโทษเด็ก

นอกจากนี้สื่อจะต้องจัดวางไว้ในระดับสายตาเด็ก (Eye-level)เพื่อให้เด็กมองเห็นได้ชัดเจน สามารถหยิบใช้และจัดเก็บได้ด้วยตนเองไม่ใช้อยู่สูงจนเป็นอันตรายเวลาเอื้อมหยิบ หรือต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ให้หยิบให้ตลอดเวลา


กระบวนการวางแผน-ปฏิบัติ-ทบทวน การวางแผน (Plan)
การวางแผน คือ กระบวนการคิดของเด็กเกี่ยวกับเป้าหมายที่จะกําหนดการกระทําที่คาดหวัง การวางแผนของเด็กขึ้นอยู่กับอายุ ความสามารถทางการสื่อสารและการใช้ภาษา เด็กอาจวางแผนโดยการกระทําท่าทางหรือคําพูด การวางแผนมีความสําคัญเนื่องจากเป็นการสนับสนุนความคิด การเลือกและการตัดสินใจของเด็กที่ชัดเจน ส่งเสริมความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองของเด็กและความรู้สึกในการควบคุมตนเอง ทําให้เด็กมีความสนใจการเล่นที่ได้วางแผนไว้ ส่งเสริมพัฒนาการการเล่นที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น

ในช่วงการวางแผนเด็กจะได้พัฒนาความสามารถในการสื่อถึงความตั้งใจ การวางแผนของเด็กอาจมีทั้ง แผนงานที่ไม่ชัดเจน คือ เด็กสามารถบอกได้เพียงว่าจะเลือกมุมใดแต่ยังไม่มีภาพในใจว่าต้องการทําอะไร แผนงานที่เป็นกิจวัตร คือ เด็กบอกได้ว่าจะเลือกเล่นมุมใด และมีภาพในใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสบการณ์หรือควรใช้วัสดุอุปกรณ์ในแต่ละมุมอย่างไร แผนงานที่มีความละเอียดชัดเจน คือ เด็กสามารถวางแผนงานที่มีความซับซ้อนซึ่งจะกล่าวถึงกิจกรรม กระบวนการ หรือวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นเป้าหมายหรือผลผลิต เด็กจะได้วางแผนที่หลากหลายตลอดเวลา ได้สร้างแผนงานจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะทํางาน

ครูสามารถสนับสนุนการวางแผนของเด็กได้โดยการสังเกตลักษณะแผนงานของเด็กแต่ละคน วางแผนกับเด็กอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และประสบการณ์ที่ช่วยทําให้เด็กมีความสนใจในการวางแผนสนทนากับเด็กเป็นรายบุคคลเกี่ยวกับแผนงานของเด็ก ทั้งนี้ วิธีที่เด็กใช้วางแผนอาจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การปฏิบัติ / การทํางาน (Do / Work time)
การทํางานเป็นช่วงเวลาที่เด็กได้ลงมือกระทํา เล่น และแก้ปัญหาอย่างมีจุดมุ่งหมาย ตั้งอกตั้งใจ และได้เรียนรู้ตามประสบการณ์สําคัญ

ช่วงเวลาการทํางานเป็นช่วงที่เด็กได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ตั้งใจไว้ ค้นพบความคิดใหม่ๆ เป็นช่วงที่เด็กต้องเลือกและตัดสินใจใช้วัสดุอุปกรณ์บริเวณและขั้นตอนในการเล่น ซึ่งทําให้เด็กเป็นผู้ทํางานอย่างจริงจัง เด็กได้การเล่นของเด็กคือความต้องการที่จะสํารวจ ทดลอง ประดิษฐ์ สร้างสรรค์และเลียนแบบ ดังนั้น เมื่อเด็กได้วางแผน กิจกรรมจึงมีลักษณะทั้งการทํางานที่จริงจังและการเล่นที่มีความสนุกสนานและสร้างสรรค์อย่างเป็นธรรมชาติ

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เด็กได้มีส่วนร่วมในสังคมจากการวางแผนเล่นเป็นคู่หรือกลุ่ม หรือทํางานคนเดียวแต่ตระหนักถึงผู้อื่น และได้แก่ ปัญหาจากการทํางานที่เด็กจะพบว่ามีทั้งสิ่งที่เป็นไปตามที่เขาคาดหวังและปัญหา เขาจะค้นพบความรู้ใหม่ที่ทําให้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับลักษณะกายภาพและสังคม การลงมือกระทําจากสิ่งที่เด็กริเริ่มและประสบการณ์ตรงทําให้เด็กได้สรรค์สร้างความรู้ด้วยตนเอง

ครูสังเกต เรียนรู้ และสนับสนุนการเล่นของเด็ก ในช่วงการทํางานครูสามารถค้นพบได้ว่าเด็กแต่ละคนมีวิธีการคิดและใช้เหตุผลอย่างไร มักจะเล่นกับใครเสมอๆ เด็กได้ใช้ความรู้อย่างไรในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นแนวทางให้ครูมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กตลอดวัน สิ่งที่เด็กปฏิบัติในช่วงเวลาของการทํางาน คือ การทําตามแผนงาน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และทําให้แผนงานสมบูรณ์เด็กได้เล่นในบริบททางสังคมที่มีความหลากหลายในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเล่นแบบสํารวจ สร้างสรรค์ บทบาทสมมติ และเกม เด็กได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนและครูอย่างเป็นธรรมชาติ

ครูสามารถสนับสนุนเด็กในช่วงเวลาของการทํางานได้โดยการสังเกตลักษณะการทํางานของเด็กแต่ละคน จัดเตรียมบริเวณการทํางาน ค้นหาสิ่งที่เด็กกําลังทํา ได้แก่ สถานภาพของการเล่น ( เริ่ม กําลังทําเปลี่ยนแปลงหรือเสร็จสมบูรณ์ตามแผนงาน ) บริบททางสังคม (เล่นคนเดียว เป็นคู่ กลุ่ม ) รูปแบบการเล่น ( สำรวจ สร้างสรรค์ บทบาทสมมติ เกม ) และประสบการณ์สําคัญ ครูสังเกตเด็กเพื่ออํานวยความสะดวก มีส่วนร่วมในการเล่นกับเด็ก สนทนาและส่งเสริมการแก้ปัญหาของเด็ก พิจารณาปฏิสัมพันธ์จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว บันทึกการสังเกตเด็ก


การทบทวน (Recall time)
ช่วงของการทบทวนเป็นช่วงที่เด็กได้สะท้อน พูดคุย และนำเสนอเกี่ยวกับสิ่งที่ทําในช่วงการทํางาน ในกระบวนการวางแผนเด็กได้ตั้งเป้าหมายและคาดเดาการกระทําล่วงหน้า ในกระบวนการทบทวนเด็กได้ทําความเข้าใจโดยการใช้ภาษา การอภิปราย และการวิเคราะห์เชื่อมโยงสะท้อนความคิดเกี่ยวกับการกระทําและประสบการณ์ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างความเข้าใจและตีความสิ่งที่ได้ปฏิบัติ ได้ตระหนักถึงความเกี่ยวเนื่องจากการวางแผน การกระทํา และผลที่ได้รับ ได้พูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง เป็นโอกาสดีที่เด็กจะได้ฝึกการเล่าเรื่อง การบรรยาย เด็กจะได้ฝึกความสามารถในการแสดงให้ผู้อื่นเห็น และเข้าใจประสบการณ์ของตน ได้ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นอดีต การทบทวนทําให้เด็กสะท้อนกลับไปยังเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ การกระทําซึ่งได้สำรวจหรือการปรับปรุงแผนงานที่วางไว้ และผลผลิตที่ได้รับในปัจจุบัน ทำให้เขาได้พิจารณาตั้งแต่อดีตซึ่งเป็นตัวชี้นําปัจจุบันและอนาคต นับเป็นทักษะที่นําไปใช้ได้ในชีวิต

ครูสามารถส่งเสริมเด็กในช่วงของการทบทวนโดยการสังเกตการทบทวนของเด็กแต่ละคน ทบทวนกับเด็กในบรรยากาศที่สงบ อบอุ่น เช่น ทบทวนในกลุ่มอย่างใกล้ชิด ในการทบทวนครูควรช่วยกระตุ้นการระลึกประสบการณ์ของเด็ก จัดหาวัสดุอุปกรณ์ หรือประสบการณ์ที่ทําให้เด็กสนใจ เช่น การเยี่ยมชมตามมุมที่เด็กสร้างไว้ ใช้เกม เช่น เก้าอี้ดนตรีโดยให้เด็กที่ได้นั่งได้ทบทวนก่อน เป็นต้น ใช้เพื่อนร่วมงานหรืออุปกรณ์ร่วมด้วย หรืออาจใช้สัญลักษณ์ เช่น ละครใบ้ แผนภูมิ การวาดรูป เป็นต้น

การประเมิน (Assessment)
ในโปรแกรมไฮสโคป การประเมินถือเป็นงานโดยตรงของครูที่จะต้องตั้งใจปฏิบัติและเอาใจใส่อย่างเต็มที่ ครูไฮสโคปจะทํางานร่วมกันเป็นคณะ ในแต่ละวันครูทุกคนจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก ข้อมูลนี้ได้จากการสังเกตและการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กในกิจวัตรประจําวัน โดยครูจะจดบันทึกสั้นตามสิ่งที่เห็นและได้ยินอย่างเที่ยงตรง สมาชิกครูที่ร่วมกันสอนจะมีการวางแผนประจำวันร่วมกันก่อนที่เด็กจะมาถึงโรงเรียน หรือหลังจากที่เด็กกลับบ้าน หรือในขณะที่เด็กนอนพักผ่อนตอนกลางวัน ครูจะแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้จากการสังเกตเด็ก ทําการวิเคราะห์ข้อมูลในด้านประสบการณ์สําคัญ และวางแผนสำหรับวันต่อไป

จุดมุ่งหมายหลักของการประเมิน คือ การประเมินคุณภาพของโปรแกรม และพัฒนาการเด็กซึ่งไฮสโคปได้สร้างแบบประเมินคุณภาพโปรแกรม (High/Scope Program Quality Assessment หรือ PQA) และแบบสังเกตบันทึกพฤติกรรมเด็ก (High/Scope Child Observation Record หรือ COR) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.
แบบประเมินคุณภาพโปรแกรม (PQA)
ไฮสโคป ได้จัดทําแบบประเมินคุณภาพโปรแกรม (PQA) ประกอบด้วยมาตรฐานคุณภาพด้านต่างๆ เช่น ด้านการจัดห้องเรียน สื่อ วัสดุ ครุภัณฑ์ กิจวัตรประจําวัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก การวางแผน และการประเมินเป็นคณะ ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ผู้ปกครองการฝึกอบรมครูระหว่างประจําการและการนิเทศ ในแต่ละด้านจะแยกออกเป็นข้อย่อย แต่ละข้อย่อยกําหนดเป็นระดับ 1-5 มีขั้นตอนการให้คะแนน PQA ดังนี้

ขั้นที่ 1 บันทึกข้อมูลสนับสนุน รวมทั้งรายการสื่อ วัสด เหตุการณ์สั้นๆ ที่ได้จากการสังเกต รวมทั้งจดบันทึกคําพูดของเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งการจดบันทึกนี้ จะต้องสั้น ตรง กระชับ เฉพาะเจาะจง เป็นจริงตามที่ครูและเด็กพูดหรือปฏิบัติ
ขั้นที่ 2 ขีดเส้นใต้ประโยค พยางค์ ข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นคุณภาพโปรแกรม
ขั้นที่ 3 วงกลมระดับที่เหมาะสม ในแบบประเมินคุณภาพโปรแกรมปฐมวัย (PQA) ว่าอยู่ในระดับ 1, 2, 3, 4 หรือ 5

2. แบบสังเกตบันทึกพฤติกรรมเด็ก (COR)
COR
เป็นเครื่องมือประเมินพัฒนาการเด็กที่ไฮสโคปสร้างขึ้นเพื่อนํามาใช้แทนแบบทดสอบซึ่งถือว่าไม่เหมาะสมกับเด็ก เครื่องมือชิ้นนี้ ไฮสโคปใช้กับเด็กอายุ 2 - 6 ปี โดยสังเกตเด็กขณะทํากิจกรรมปกติในแต่ละวัน ผู้ที่สังเกตจะต้องผ่านการฝึกอบรมการสังเกตและบันทึกพฤติกรรมเพื่อที่จะสามารถใช้ COR ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แบบสังเกตบันทึกพฤติกรรมเด็ก (COR) ช่วยให้ครูที่ทํางานอยู่ในโปรแกรมที่พัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการ ได้สังเกต
เด็ก และบันทึกพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกในกิจวัตรประจําวันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ COR จะช่วยชี้ให้เห็นทักษะและศักยภาพของเด็กแต่ละคน ทําให้ครูวางแผนการสอน และปรับสื่อการเรียนการสอน เทคนิควิธีการและกิจกรรมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล

รายการสังเกตใน COR มี 6 รายการ ตามประสบการณ์สำคัญในไฮสโคป คือ
1.
การริเริ่ม (Initiative)
2.
ความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relations)
3.
การนําเสนออย่างสร้างสรรค์ (Creative Representation)
4.
ดนตรีและการเคลื่อนไหว (Music and Movement)
5.
ภาษาและการรู้หนังสือ (Language and Literacy)
6.
ตรรกและคณิตศาสตร์ (logic and Mathematics)


ขอบคุณข้อมูลจาก :

http://iam.hunsa.com/mgkschool/article