วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

รักมั่นคง...ช่วยลูกพัฒนาดี



คุณทราบหรือไม่ว่าความสัมพันธ์ที่มั่นคงช่วยให้ลูกมีพัฒนาการดีได้



ความสัมพันธ์ที่มั่นคงของแม่และพ่อที่มีต่อลูกน้อย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกขวบปีแรก แต่จะทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงลูกให้มีความสัมพันธ์ที่ดีได้ ข้าพเจ้าติดใจจากการอ่านนิตยสารเล่มหนึ่งจึงนำเอามาเสนอดังต่อไปนี้ค่ะ



ขวบปีแรก...โหยหาความเชื่อใจ


ทฤษฎีพัฒนาการ (psychosocial development) ของ อิริคสันบอกว่าเด็กวัยขวบปีแรก จะเกิดความไว้ใจ เชื่อใจคน ผ่านการตอบสนองต่อความต้องการของเด็กอย่างเหมาะสมจากคนที่เลี้ยงดูเด็ก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของพัฒนาการด้านอื่นๆ ต่อไป เพราะสิ่งสำคัญในการเลี้ยงดูเด็กวัยนี้ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงดูที่มี ความเข้าใจความต้องการของเด็กและตอบสนองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยอาศัยความรักความอบอุ่นและความเข้าใจในการเลี้ยงดูค่ะ


ขวบปีแรกเป็นช่วงของการสร้างสัมพันธภาพ ถ้าเด็กได้รับการดูแลอย่างเข้าใจจากคนที่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดู เขาจะผูกพัน ไว้เนื้อเชื่อใจ ความมั่นคงทางอารมณ์ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูจึงต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานของลูกอย่างถูกต้องเหมาะสมทุกครั้ง เช่น หิวก็ให้กินนม ผ้าอ้อมเปียกก็เปลี่ยนให้ ลูกร้องก็คอยปลอบโยน เป็นต้น


ความรัก ความอบอุ่น พลังสร้างความสัมพันธ์


วิธีเลี้ยงลูกเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก ก็คือการดูแลเอาใจใส่และมอบความรัก ความอบอุ่นให้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากต่อพัฒนาการของลูก การเลี้ยงดูที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ลูกจะรับรู้ความรู้สึกเหล่านั้น ส่งผลให้จิตใจและอารมณ์ของลูกมั่นคงและรู้สึกปลอดภัย ซึ่งทำได้ดังนี้


ยิ้ม ยิ้มให้ หรือยิ้มตอบเมื่อลูกยิ้มให้ ลูกก็จะได้จดจำใบหน้าของแม่ และเกิดความผูกพันระหว่างกัน


กอดสัมผัส ภาษากายที่จะทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยว่าจะมีผู้ดูแลอยู่ข้างๆ เสมอ


สบตา เวลาที่ลูกจ้องมอง พ่อแม่ควรพูดคุยพร้อมกับสบตากับลูก เวลานี้แหละค่ะที่เด็กๆ จะได้สังเกตใบหน้า ท่าทางและอารมณ์ของพ่อแม่และถ้าได้พูดคุยและสบตากันมากขึ้นเท่าไร ความผูกพันก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย


เล่น ทั้งการเล่นจ๊ะเอ๋ ร้องเพลง หรือพูดคุยหยอกล้อกับลูก ก็ช่วยเพิ่มเติมความรัก ความอบอุ่นได้เช่นกัน



ความสัมพันธ์ไม่ดี=พัฒนาการไม่ดี


เด็กที่ถูกเลี้ยงมาด้วยการขาดความสัมพันธ์ที่ดี ขาดความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ส่งผลให้ขาดความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ เด็กจะไม่ไว้ใจใคร เพราะความต้องการพื้นฐานของพวกเขาไม่ได้ตอบสนอง เช่น เวลาหิวก็ไม่มีใครหานมมาให้ ร้องไห้ก็ไม่มีใครสนใจ เด็กจะไม่เชื่อใจใครเลย กลายเป็นเด็กที่ขาดปฏิสัมพันธ์ ส่งผลให้ขาดความกระหายที่จะเรียนรู้ พัฒนาการของเด็กก็จะช้าตามไปด้วย

เช่นเดียวกันกับเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรุนแรง หรือด้วยอารมณ์ที่เกรี้ยวกราด เด็กจะเสียพลังงานไปกับการคอยระวังภัยอยู่ตลอดเวลาว่าจะเจ็บตัวหรือไม่ ทำให้เด็กมีความเครียด ส่งผลให้สารคอร์ติซอลที่มีอยู่ในร่างกายหลั่ง พลังงานและความสนใจที่เด็กจะใช้ในการเรียนรู้ก็หมดลง


ดังนั้น การเลี้ยงดูลูกน้อย จึงต้องใช้ความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องทุกช่วงวัย เพราะวงจรแห่งการเจริญเติบโตของเด็กเชื่อมโยงกัน พ่อแม่จึงควรจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับลูกไปพร้อมๆ กับทำความเข้าใจพัฒนาการของลูกด้วยค่ะ


อย่าลืมว่าความรัก ความอบอุ่น การเอาใจใส่ เป็นเครื่องมือในการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่กับลูกน้อย เพื่อเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในอนาคตต่อไปค่ะ



ขอขอบคุณเนื้อหาจาก


นิตยสารรักลูก ฉบับ เมษายน 2553


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น